มะเขือเทศในท้องตลาดทั่วไปมีหลายชนิด ซึ่งถ้าแบ่งตามการใช้ประโยชน์ก็จะแบ่งเป็น..

‘พันธุ์บริโภคสด’ เป็นพันธุ์ที่เราพบได้ในตลาด มีทั้งแบบผลเล็กและผลใหญ่ เช่น มะเขือเทศสีดา หรือมะเขือเทศเชอร์รี่

‘พันธุ์สำหรับอุตสาหกรรม’ เป็นพันธุ์แบบผลโต นำมาแปรรูปเป็นซอส หรือน้ำมะเขือเทศ

ในมะเขือเทศนั้นอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ด้านการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ โดยร่างกายเราต้องการปริมาณไลโคปีนอย่างน้อย 6.5 มิลลิกรัมต่อ 1 วัน ซึ่งใน 100 กรัมของมะเขือเทศสด จะมีไลโคปีนปริมาณ 0.9 – 9.30 กรัม

นอกจากนั้น ในมะเขือเทศยังเป็นแหล่งวิตามินเอ, บี, ซี, อี และแร่ธาตุโปแทสเซียม รวมทั้งแร่ธาตุเหล็ก ช่วยชะลอความชราหรือการเสื่อมของเซลล์ มะเขือเทศจึงถูกนำมาใช้ในด้านความงาม และด้านการบำรุงผิวอย่างมากมายในปัจจุบัน โดยเฉพาะสาว ๆ ที่อยากมีผิวสวยอมชมพู จะต้องดื่มน้ำมะเขือเทศเป็นประจำ

หากอยากได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ มีงานวิจัยหลายชิ้นได้แนะนำว่า ควรกินมะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุก เนื่องจากความร้อนทำให้การยึดจับของไลโคปีนที่เนื้อเยื่อมะเขือเทศลดลง ส่งผลให้ขับไลโคปีนออกมามากขึ้น ร่างกายนำไปใช้ได้เยอะกว่ารับประทานแบบสด ๆ อีกทั้งความร้อนจะช่วยทำให้รูปแบบของไลโคปีน จากโครงสร้างที่ละลายยาก เปลี่ยนเป็นโครงสร้างที่ละลายง่ายขึ้น ทำให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย

ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศแต่ละชนิด จะให้ปริมาณของสารไลโคปีนแตกต่างกัน ดังนี้

1.มะเขือเทศสด 0.88-4.20 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

2.มะเขือเทศปรุงสุก 3.70 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

3.ซอสมะเขือเทศ 6.20 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

4.ซุปมะเขือเทศเข้มข้น 7.99 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

5.น้ำมะเขือเทศ 5.00-11.60 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

6.ซอสพิซซ่า 12.71 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

7.ซอสมะเขือเทศ 9.90-13.44 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

8.มะเขือเทศผง 112.63-126.49 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

9.ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น 5.40-150.0 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

แม้ว่าชนิดของผลิตภัณฑ์จะให้ปริมาณไลโคพีนต่างกัน ซึ่งจะเห็นว่ามะเขือเทศผงมีไลโคพีนสูงสุด แต่เราควรเลือกทานแหล่งของไลโคพีนที่สามารถหาได้สะดวก และเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เช่น ซอสมะเขือเทศ หรือประกอบอาหารด้วยมะเขือเทศ ร่วมไปกับการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ก็จะสามารถลดปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดโรคต่าง ๆ ได้

 

อ้างอิง

  1. รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ที่มา: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/1/ประโยชน์-มะเขือเทศ-ไลโคปีน-lycopene/.
  2. http://healthrelax.blogspot.com/2014/09/lycopepe.html.
  3. นพ.สุริยา ธีรธรรมากุล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา และเวชศาสตร์ชะลอวัย. ที่มา: http://health.haijai.com/1547/.

ที่มาภาพ : https://authoritynutrition.com/foods/tomatoes/

 

ผู้เขียน  :  นิภาพร สีทน (วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเกษตรศาสตร์ (พืชสวน) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)  บัณฑิตทุนมูลนิธิดำรงชัยธรรม รุ่นที่ 11/2555

รีไรท์บทความ : วรัญญา พรหมพิณพิลาส  บัณฑิตทุนมูลนิธิดำรงชัยธรรม รุ่นที่ 11/2555