‘มะเร็งปากมดลูก’ กลายเป็นโรคที่คนไทยไม่สามารถมองข้ามไปได้อีกแล้ว หลังพบว่ามีสถิติการเกิดสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม หรืออธิบายง่ายๆ คือ ในจำนวนผู้หญิงทุกๆ 5,000 คน เราจะพบ 1 คนที่เป็นโรคนี้นั่นเอง

 

ซึ่งร้อยละ 70 – 75 พบว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย เกิดจาก Human Papillomavirus หรือ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18

 

โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ การสูบบุหรี่ / มีคู่นอนหลายคน / มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย / ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อย / คลอดลูกจำนวนมาก / มีสามีเป็นมะเร็งองคชาติ / มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก / มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน / มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม ซิฟิลิส และหนองใน / ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ และการได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ถือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโอกาสติดเชื้อ HPV ทั้งสิ้น

 

วิธีการป้องกันเชื้อการติดเชื้อ HPV คือ การไม่สัมผัสกับเชื้อโดยตรง ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นการสัมผัสกับเชื้อได้มาก และต่อให้ใช้ถุงยางอนามัย ก็ไม่อาจช่วยลดความเสี่ยงของการสัมผัสเชื้อลงได้ แต่หากจะให้ไม่มีเพศสัมพันธ์ก็คงเป็นไปได้ยาก จึงมีการคิดค้น ‘วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก’ ขึ้นมา

 

‘วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก’ มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

1.ชนิด Quadrivalent Vaccine สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 4 สายพันธ์ คือสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ 6 และ 11 ป้องกันเชื้อที่ก่อให้เกิดหูด หลังฉีดแล้วจะให้ภูมิคุ้มกันประมาณ 5 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง โดยต้องฉีดวัคซีนจำนวน 3 เข็มที่กล้ามเนื้อ ตามเวลา 0, 2 และ 6 เดือน ซึ่งองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดได้ในผู้หญิงอายุ 9-26 ปี และผู้ชายอายุ 9-26 ปี

 

  1. ชนิด Bivalent vaccine สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 2 สายพันธ์ คือสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก หลังฉีดแล้วจะให้ภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 8 ปี โดยต้องฉีดวัคซีนจำนวน 3 เข็มที่กล้ามเนื้อ ตามเวลา 0, 1 และ 6 เดือน ซึ่งองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดได้ในผู้หญิงอายุ 9-25 ปี

 

ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด และผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ผลเต็มที่ จึงควรฉีดวัคซีนนี้ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่ไม่แนะนำให้ฉีดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ที่แพ้วัคซีนและส่วนประกอบในวัคซีนชนิดนี้

 

โดยหลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน ขณะที่ระยะเวลาในการป้องกันโรคนั้น ยังไม่มีข้อมูลผลการป้องกันของวัคซีนที่ยาวเกินกว่า 10 ปี ส่วนอาการข้างเคียงที่สามารถพบได้หลังฉีด คือ อาการปวด บวม แดง และคันบริเวณที่ฉีดวัคซีน หรืออาจมีไข้ได้

 

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ก็ควรทำอย่างต่อเนื่องควบคู่กันไป

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Human Papillomavirus (HPV) Vaccines (Internet). National cancer institute.[ update 2016 Nov 2; cite 2016 November17]. Available from: https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/infectious-agents/hpv-vaccine-fact-sheet.
  2. ความรู้เรื่องวัคซีน HPV (Human Papiloma virus Vaccine)(Internet). [cited 2016 Nov 9]

Available from:  http://www.pharmacy.mahidol.ac.th.

 

ขอบคุณข้อมูล : เภสัชกรหญิงปัทมา ใจน่าน  บัณฑิตทุนมูลนิธิดำรงชัยธรรม รุ่นที่ 4/2548

รีไรท์บทความ : วรัญญา พรหมพิณพิลาส  บัณฑิตทุนมูลนิธิดำรงชัยธรรม รุ่นที่ 11/2555