เคยสงสัยกันไหมว่า เครื่องหมาย Rx บนใบสั่งยานั่นมีความหมายว่าอย่างไร หรือมีหลายท่านถามมาว่า “เภสัชกรอ่านลายมือแพทย์ออกได้อย่างไร” แม้ว่าปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์จะเข้ามาอำนวยความสะดวก แต่ใบสั่งยาลายมือแพทย์ก็ยังคงมีใช้กันอยู่ในโรงพยาบาลหลายแห่ง เมื่อไปพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บป่วยไม่สบายต่างๆ หลังจากที่แพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัยโรคเสร็จสรรพเรียบร้อย แพทย์ก็จะเขียนใบสั่งยาด้วยลายมือขะยุกขะยิก ส่งให้ผู้ป่วยนำไปยื่นที่ห้องยาหรือแผนกเภสัชกรรม เพื่อรับยาต่อไป ถ้าช่างสังเกตจะเห็นว่า ส่วนหัวของใบสั่งยาจะมี เครื่องหมาย Rx  ซึ่งตัวย่อนี้มาจากภาษาละตินว่า “recipe” แปลว่า take thou หรือ take up หมายความว่า “จงนำไป” เป็นการสื่อสารระหว่างแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยโรคกับแพทย์ปรุงยาหรือเภสัชกร เพื่อให้เตรียมตำรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

เรื่องการลายมือแพทย์นับเป็นทักษะพื้นฐานของเภสัชกร บรรจุเป็นวิชาเรียน ที่ต้องเข้าใจคำสั่ง ตัวย่อ และโค้ดต่างๆ เช่น tid หมายถึง ใช้ยาวัน 3 ครั้ง, 1x3 หมายถึง รับประทานยา 1 เม็ดวันละ 3 ครั้ง, pc หมายถึง หลังอาหาร, ac หมายถึง ก่อนอาหาร, hs หมายถึง ก่อนนอน เป็นต้น ยังมีตัวย่อของคำสั่งอีกมากมายที่ต้องจำ ทั้งยารับประทาน ยาใช้ภายนอก ยาเทคนิคพิเศษ ฯลฯ ในฐานะเภสัชกรคนหนึ่งยอมรับว่าใบสั่งยาจำนวนไม่น้อยที่ค่อนข้างอ่านยาก แต่อาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์ ที่สำคัญคือการพยายามทำความรู้จักยาทุกชนิดที่มีอยู่ในท้องตลาดให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะยาหลักๆ เป็นที่นิยมใช้ หรือหากไม่ทราบจริงๆ อาจเปิดหนังสือที่รวบรวมชื่อการค้าในประเทศไทย นอกจากจะต้องรู้จักชื่อยาแล้ว ยังต้องรู้จักความแรงของยา รูปแบบเภสัชภัณฑ์ วิธีรับประทาน รวมถึงข้อบ่งใช้ของยา เพื่อใช้ประกอบในการอ่านใบสั่งยาลายมือแพทย์ ที่บางครั้งไม่ชัดเจน อาจอ่านเป็นยาได้หลายชนิด จึงอาจจะต้องตัดสินใจจาก ขนาด ความแรงของยา หรือวิธีใช้ยา หรือบางครั้งอาจต้องพิจารณาใบสั่งยาเป็นองค์รวม  เช่น รายการยาอื่นที่พอจะอ่านออก เพื่อสันนิษฐานว่า ผู้ป่วยเป็นโรคใด และยาที่อ่านไม่ชัดเจน น่าจะเป็นยาชนิดใด สอดคล้องกับยาชนิดอื่นในใบสั่งยานั้นหรือไม่ แต่หากไม่มั่นใจจริงๆ ว่าเป็นยาชนิดใด อาจติดต่อกลับแพทย์เพื่อสอบถามให้แน่ชัดต่อไป

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเห็นบทบาทเภสัชกรแค่เพียงหน้าเคาน์เตอร์จ่ายยา แต่กระบวนการกว่าที่จะแปรสภาพรายการยาในกระดาษ มาเป็นยาที่ส่งถึงมือผู้ป่วยนั้น มีการตรวจสอบความเหมาะสมในหลายขั้นตอน เช่น ตรวจสอบอันตรกิริยาระหว่างยา หรือยาตีกัน ตรวจสอบความถูกต้องให้ผู้ป่วย ได้รับยา ถูกคน ถูกโรค ถูกชนิด ถูกขนาด ถูกวิธีใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน หรือภาษากาย ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ การสื่อสารจะมีความเข้าใจตรงกันค่ะ

 

ผู้เขียน : ภญ.บุษบงก์ ธรรมมาสถิตย์กุล บัณฑิตทุน รุ่นที่ 11/2555