เมื่อวันที่ 30 ก.ย. รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ.มรภ. ว่า ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รักษาการเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มาชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงกลางร่วมกัน หรือเคลียริ่งเฮาส์ตามนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ที่ประชุมได้รับทราบ หลังรับฟังการชี้แจง ที่ประชุมได้มีมติที่จะรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งร่วมกัน โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏจะรับบุคคลเข้าสู่สถาบัน 3 รูปแบบ คือ 1.พิจารณาจากพอร์ตฟอลิโอ เช่น ผู้ที่มีความสามารถพิเศษ นักกีฬา นักดนตรี เป็นต้น 2.การรับนักศึกษาในพื้นที่ผ่านระบบโควตาที่มีการสอบคัดเลือก โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏจะเป็นผู้ออกและใช้ข้อสอบร่วมกันในการคัดเลือก  แต่จะดำเนินการหลังจากที่เด็กจบชั้นม.6 แล้ว  และใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ในการสอบ  ซึ่งจะไม่ตรงกับระบบเคลียริ่งเฮาส์  ทั้งนี้การรับในระบบโควตาจะเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้เข้ามาเรียนในระดับอุดมศึกษา  ตามปรัชญาของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ  และ 3.รับบุคคลผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์  ส่วนสัดส่วนจำนวนรับในแต่ละระบบนั้น  แต่ละ มรภ.จะกำหนดจำนวนและแจ้งให้ ทปอ.ได้ทราบ  เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลการรับในระบบเคลียริ่งเฮาส์ต่อไป

ประธาน ทปอ.มรภ.กล่าวอีกว่า  แม้มรภ.จะมีมติให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสามารถเปิดสอบรับตรงได้เอง  แต่การรับนักศึกษาของ มรภ.ก็จะสนองนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ ใน 5 เรื่อง  1.เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ  2.ลดปัญหาค่าใช้จ่าย  3.ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ  4.เด็กมีความสุขในการเรียนในห้องเรียน  5.มหาวิทยาลัย/คณะ ได้ผู้เรียนที่มีศักยภาพตามที่ต้องการ  ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะวิ่งรอกสอบ  อย่างไรก็ตาม  ทปอ.มรภ.จะนำมติดังกล่าวไปรายงานให้ มรว.ศธ.ได้ทราบต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thairath.co.th/