รัตนา ด้วยดี (เฟิร์น)
บัณฑิตทุน มูลนิธิดำรงชัยธรรม รุ่นที่ 6/2550
ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (การสื่อสารมวลชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สังคมศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบัน นักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
30 ปีแห่งความหลัง

1

ภาพถ่ายนี้ทำให้เราในวัย 30 ปี ได้ทบทวนชีวิตอีกครั้ง…ตอนนั้นเราอายุ 10 ขวบ เป็นเด็กน้อยหลังเขา มีสถานภาพทางสังคมคือ กำพร้าพ่อ ฐานะทางเศรษฐกิจยากจนติดอันดับต้นๆ ของโรงเรียน แต่ในทางกลับกันเรากลับเชื่อมั่นว่าเราร่ำรวยความฝันกว่าใครๆ ทั้งหมด

เราจำความรู้สึกตอนนั้นได้ดี มันเป็นช่วงชีวิตที่มองไม่เห็นหนทางในวันข้างหน้า ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ชีวิตจะเป็นอย่างไร ในวัยนั้นทุกสิ่งในชีวิตช่างยากเย็นและดูยืดเยื้อยาวนาน เหมือนว่าเราจะอดทนให้แต่ละวันผ่านพ้นไปแทบจะไม่ไหว ในภาวะเช่นนั้นจึงมีเพียงความฝันเป็นเป้าหมายของชีวิต และใช้ความฝันเป็นแรงผลักดันให้ต่อสู้กับทุกอย่างเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงชีวิตที่ไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย

จากต้นทุนชีวิตที่มีเพียงเท่านี้สิ่งเดียวที่พอจะรู้สึกดีกับชีวิตตัวเองได้บ้าง คือ เราสามารถที่จะบังคับให้ตัวเองมีความอดทน และพยายามที่จะตั้งใจเรียน บังคับตัวเองให้ทำสิ่งที่ “เชื่อว่ามันจะทำให้ชีวิตดี” ทั้งสิ่งที่ใจอยากทำและไม่จะอยากทำแต่ก็ต้องทำ  ปลอบใจตัวเองอยู่เสมอ “ยอมลำบากก่อนสบายทีหลัง” “มีความหวังน่า ต้องมีความหวังสิ!!!” พร่ำบอกตัวเองทุกวัน จนสามารถพาตัวเองล้มลุกคลุกคลานจากช่วงชีวิตในภาพถ่ายนี้มาอย่างทุลักทุเล เมื่อมองย้อนกลับไปเราเองยังประหลาดใจ นี่เราสามารถมีชีวิตผ่านคืนวันแบบนั้นมาได้ตั้ง 20 ปีแล้วหรือนี่!!!!

 ครูที่ดีที่สุดของเราคือประสบการณ์ของตัวเราเอง

เราเชื่อว่าประสบการณ์ของชีวิต เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตทางความคิดและจิตวิญญาณของคนอย่างมาก ดังนั้น หากเราไม่มีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งใด เราจะไม่เติบโตหรือเกิดการเรียนรู้และตระหนักซาบซึ้งไปกับสิ่งนั้นอย่างแท้จริง

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากครูของเราที่ชื่อ “ประสบการณ์” ที่ยากลำบากนั้นเป็นสิ่งที่เราเองไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเหมือนกันกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ หรือไม่เพราะเรารู้สึกว่า “ห้องเรียนชีวิต” ที่ดำเนินการเรียนการสอนมาตลอด 30 ปีนี้ มีเราเรียนอยู่เพียงคนเดียว ในขณะที่คนอื่นๆ รอบตัวเราเขาก็มีห้องเรียนและครูและโจทย์ชีวิตที่แตกต่างไปจากเราเช่นกัน บางครั้งเราจึงถกเถียงกับความคิดกับตัวเองเพียงลำพัง บางทีก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่นบ้าง เพื่อเรียนรู้ว่าครูของเขาสอนอะไรให้กับเขา เขารู้สึกอย่างไรและได้เรียนรู้อะไรจากบทเรียนนั้น แต่สุดท้ายแล้วเราก็ทำได้เพียงรับรู้รับฟังบทเรียนของเขาเท่านั้น ไม่ได้ซาบซึ้งในบทเรียนของเขามากมายนัก คงเพราะเราและเขาเหล่านั้นมี“ประสบการณ์” ซึ่งเป็นทักษะที่จะใช้รับมือกับบททดสอบของชีวิตและสมรรถภาพของหัวใจที่ใช้ในการรับรู้โลกใบนี้แตกต่างไปจากเรา คนส่วนใหญ่ที่ “รู้จักแต่ไม่รู้จริง” เกี่ยวกับตัวเราจึงมักสรุปว่าเราเป็นคนเก่ง เป็นคนโชคดี เห็นเราได้รับแต่สิ่งดีๆ มีชีวิตที่น่าอิจฉา ซึ่งก็อาจจะมีส่วนที่จริงนะที่ระหว่างทางชีวิตของเรา เรามีโอกาสได้รับสิ่งดีๆ เจอคนดีๆ มีชีวิตดีๆ แต่….เราก็อยากบอกเขาเหล่านั้นว่า ทุกอย่างที่ดีๆ ก็ต้องแลกมาด้วยสิ่งที่คู่ควรเช่นกัน

 ได้มา-ให้ไป

ด้วยสถานภาพทางสังคมที่โดดเด่นด้านความยากจน บวกกับความทะเยอทะยานและช่างฝันของเรา ทำให้เรามักได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดีมาตลอดเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา 30 ปี จำได้ว่า ตอนเป็นเด็กน้อยเราได้รับโอกาส ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ใจดีหลายท่าน เรามีความสุขแค่ไหน ความรู้สึกของการเป็นผู้โชคดียังอิ่มเอมในใจเสมอ และก่อนนอนทุกคืน เรากราบหมอนเพื่อระลึกถึงบุญคุณของ “ผู้ให้” เหล่านั้น ภาวนาขอให้พวกเขามีความสุข และเราสัญญากับตัวเองเสมอว่าจะใช้ทุกโอกาสที่ได้รับอย่างมีคุณค่า และทำตัวให้คู่ควรกับสิ่งที่ได้รับ

จากเด็กน้อยมอมแมมในภาพถ่ายนั้น มาถึง ณ วันนี้ในวัย 30 ปี เรายังเป็นเราคนเดิม ที่มีทั้งรอยยิ้ม น้ำตา และความฝันมากมาย (เช่นเดิม) แต่เปลี่ยนบทบาทจาก “คนที่ครอบครัวต้องดูแล” มาเป็น “คนที่ดูแลครอบครัว”  เปลี่ยนจากคนที่ได้รับโอกาสมาเป็นคนที่ให้โอกาสกับคนอื่นบ้าง เพราะเราเชื่อว่า หากเปรียบชีวิตเหมือนรถยนต์ สมรรถภาพของเครื่องยนต์คือความสามารถ ส่วนเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนคือ โอกาสดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถมากแค่ไหน ถ้าไม่ได้รับโอกาส ความสามารถนั้นก็ไร้ความหมาย

ผู้ให้ “โอกาส” จึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน “ทุกความน่าจะเป็น” ไปสู่ “ความเป็นจริง”

วันนี้ที่เรามีโอกาสเป็นผู้ให้คนอื่นบ้าง แม้อาจจะเป็นสิ่งเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราได้รับ แต่วันนี้เราก็ได้เข้าใจแล้วว่าคนที่มีความสุขมากกว่าผู้รับ คือ “ผู้ให้” นั่นเอง

วันนี้ที่เรากำลังเขียนบทความนี้อยู่ เรามีภาระกิจที่สำคัญในชีวิตอย่างน้อย 4 อย่าง และภารกิจทั้ง 4 อย่างนี้เองที่ทำให้เรายังมีพลังขับเคลื่อนตัวเองไปได้ในทุกๆ วัน

หนึ่ง รัก ดูแล ถนอมตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อจะได้ดูแลคนที่เขาดูแลเรามาตลอด นั่นคือแม่และครอบครัวของเรา

สอง เคารพ ศรัทธาในตนเอง และใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย เพราะหลายๆ ครั้งที่เราสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตมาได้ เพราะเราได้เห็นตัวอย่างการใช้ชีวิตที่ดีจากใครบางคน

สาม รู้คุณค่าของเงินและโอกาส เพราะชีวิตจริงจำเป็นต้องใช้เงิน อย่างน้อยก็เป็นทุนการศึกษา เป็นเครื่องมือซื้อโอกาสให้เด็กหญิงข้างบ้านที่กำพร้าพ่อเหมือนเราในอดีตได้เรียนหนังสือ เธออาจเป็นผู้ดูแลครอบครัว เป็นสมาชิกของสังคมคนหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนสังคมได้ในอนาคต

สี่ บำรุงรักษาความฝันไม่ให้ฝ่อ หมั่นค้นหาและเติมแรงบันดาลใจให้ตัวเองอยู่เสมอ เพื่อภารกิจ 3 ข้อที่กล่าวมาก่อนหน้านี้

ไม่ว่า “ชีวิต” จะสุขสมหวังหรือยากลำบากอย่างไรก็ตาม หากเราสามารถผ่านพ้นไปได้เมื่อมองย้อนกลับไป ความทรงจำเล่านั้นจะงดงามและเป็นพลังขับเคลื่อนให้กับตัวเราเองเสมอ ขอจงรักในชีวิตของคุณเพราะคุณมีคุณค่าสำหรับโลกใบนี้

เราเองก็เช่นกัน

2

3

4