นายทันตแพทย์ปฐมพงศ์  เครือจันทร์ (ต้อม)                                                       บัณฑิตทุน มูลนิธิดำรงชัยธรรม รุ่นที่ 10/2554                                                     ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์                                               ปัจจุบัน  ทันตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

โรคฟันเป็นโรคของทุกคน การที่จะให้ราษฎรผู้ยากไร้และอยู่ห่างไกลความเจริญ ต้องทิ้งไร่ทิ้งนา เข้ามารับการรักษาในเมืองคงเป็นไปไม่ได้ หน้าที่ทันตแพทย์จะเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นงานทันตกรรมเคลื่อนที่ หรืองานทันตกรรมชนบทเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ครั้งตั้งแต่เริ่มศึกษาวิชาทันตแพทย์ ในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภาพที่ปรากฏในการช่วยเหลือ และทำฟันในถิ่นทุรกันดาร เป็นภาพที่ผมอยากให้ตนเองเข้าไปมีส่วนในภาพต่างๆ เหล่านั้น เปรียบเสมือนเฟืองตัวเล็กๆ ในระบบสาธารณสุขของไทย

เมื่อปฏิบัติหน้าที่ของทันตแพทย์ ผมจึงหาโอกาสในการออกหน่วยเพื่อช่วยเหลือคนตามชายขอบ ครั้งแรกได้ออกหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอสว.)  อำเภอท่าสองยาง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากสนามบินแม่สอดเข้าไปยังหมู่บ้านที่ปฏิบัติงาน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงเพื่อขึ้นไปยังหุบเขาในหมู่บ้าน ครั้งนั้นสร้างความประทับใจที่ไม่รู้ลืม ผู้คนในหมู่บ้านต่างเข้ามารับบริการกันทุกคน เด็กอายุ 3-4 ขวบ ไม่ร้องไห้โยเย ยอมให้ทันตแพทย์ได้ตรวจรักษา หลังจากเสร็จสิ้นภาระกิจแต่ละวัน ต้องรักษาผู้ป่วยหลายสิบคนเป็นงานที่เหนื่อยมาก แต่สุขใจในทุกๆ วันที่ได้ทำการรักษา

ครั้งล่าสุดผมได้มีโอกาสออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล เป็นอีกหน่วยที่ทำการรักษาทางทันตกรรมซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในครั้งนี้มีคำว่า การออกหน่วยในถิ่นทุรกันดาร (มาก) เป็นความท้าทายหนึ่งที่ผมจะทำให้ได้  เริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนตีห้าครึ่ง และเดินทางไปถึงอำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่เวลาหกโมงเย็น จากจังหวัดเชียงใหม่ สู่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถบินไปได้ครึ่งโลก  ทางเริ่มต้นจากถนนธรรมดา 2 ชั่วโมง สู่ถนน? ริมหน้าผา (ทางดินแดง) เข้าพักที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน นอนเต็นท์ อาบน้ำในห้องน้ำนักเรียนในอุณหภูมิประมาณ 14 องศา ปราศจากน้ำอุ่น เป็นการฝึกความอดทนในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสการรักษาทางทันตกรรมอย่างยิ่ง เริ่มต้นวัยแรกของการรักษาก็ได้พบภาพความประทับใจ ที่มีเด็กตัวน้อยๆ ตั้งแต่สามขวบเรียงตามอายุไปจนถึงผู้ใหญ่ เรียกได้ว่ามากันทั้งหมู่บ้าน เข้ามารับการรักษาและทางหน่วยก็ได้เดินทางไปทั่วทั้งตำบลทั้งหมดห้าวัน

หากถามถึงความลำบาก สามารถตอบได้เต็มปากว่ามากกว่าการทำงานปกติในห้องแอร์มีกาแฟเย็นให้ดื่ม ต้องทำงานในที่ตอนเช้า 19 องศา และตอนเที่ยง 38 องศา ในชุดเต็มยศเหงื่อตกนอนแทบจะกลางดิน ทานอาหารให้พออิ่มและพอทานได้ ถึงแม้ว่ากายจะลำบากเพียงใด แต่ใจก็อิ่มด้วยความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้คนที่ขาดโอกาสการรักษาและภูมิใจที่ได้ทำตามพระราชปณิธาณของสมเด็จย่าและในหลวงรัชกาลที่ 9

 

 

1

2

3

4