สวัสดีค่ะ น้องๆ มาพบกันอีกแล้วกับคอลัมน์ DM Graduate  ฉบับนี้ พี่จอยนึกถึงพี่ๆ ปี 4 ที่กำลังจะจบเป็นบัณฑิตใหม่ป้ายแดง ชีวิตในมหาวิทยาลัยกำลังจะจบลง ชีวิตในการทำงานกำลังจะเริ่มขึ้น  ช่วงเวลาที่เหลือเราจะเตรียมตัวอย่างไรดีนะ เพื่อที่จะไม่เคว้งคว้างเวลาที่จบออกไป สำหรับน้องๆ ที่เริ่มเตรียมตัวหาข้อมูลกันแล้ว  พี่จอยขอชื่นชมนะคะ  แต่สำหรับใครที่ยังงงๆ จะทำอะไร อย่างไร เริ่มไม่ถูก พี่จอยมีคำแนะนำดีๆ จากพี่เป้ บัณฑิตทุนรุ่นที่ 9/2553 และเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการ HR มาหลายปี  มาเล่าเรื่องราวสมัยที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ และก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน  มาดูกันสิว่า  พี่เป้เตรียมตัวอย่างไร  และต้องผ่านอะไรมาบ้าง รวมทั้งอย่าพลาดกับเคล็ดลับในการเตรียมตัวเพื่อสมัครและสัมภาษณ์งานที่พี่เป้ เตรียมข้อมูลมาบอกต่อน้องๆ นักเรียนทุน โดยเฉพาะเลยนะคะ  ล้อมวงมาฟังเลยจ้า

ก่อนอื่นอยากให้พี่เป้แนะนำตัวกับน้องๆ สักนิดนะคะ

สวัสดีครับ พี่ชื่อพี่เป้นะครับ  เกียรติศักดิ์ สมภักดี  บัณฑิตทุนรุ่นที่ 9/2553  จบจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ตำแหน่ง HR Officer, Learning Solution, Human Capital Institute, SCG Learning อาจจะยาวนิดนึงนะครับ ถ้าจะให้อธิบายก็คือ เป็นหน่วยงานกลางด้านการเรียนรู้และพัฒนาบุคคลากรของ SCG นั่นเองครับ  ซึ่งจะมีหน้าที่ในการดูแลในเรื่องการพัฒนา  และการเรียนรู้ของบุคคลากรของ SCG ทุกคน

อยากให้พี่เป้เล่าถึงตอนที่เรียนจบใหม่ๆ แล้วหางานทำ  ตอนนั้นพี่เป้มีวิธีเลือกงานอย่างไร  หางานจากแหล่งไหนบ้างคะ

ตอนพี่เรียนจบใหม่ๆ พี่ก็สมัครงานหลายที่เหมือนกัน  เพราะตอนช่วงใกล้จบ  ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีการจัดงาน Job Fair มีบริษัทต่างๆ มารับสมัครงาน  ก็ยื่น Resume ไปหลายที่เหมือนกันครับ หลักในการเลือกงาน ขั้นแรกๆ ของพี่คือ เงินเดือนครับ  ฮ่าๆ จริงๆ มันก็เป็น basic พื้นฐานในการเริ่มต้นของทุกคนนะครับ แบบง่ายที่สุด  คือทุกคนก็คงมีตัวเลขในใจว่าถ้าเราจะไปที่นี่  เราควรจะได้สักเท่าไหร่นอกเหนือจากตัวเงิน  ก็คงเป็นชื่อเสียงของบริษัท  พี่อยากร่วมงานกับบริษัทที่ได้ชื่อว่ามีชื่อเสียง  เป็นบริษัทชั้นนำและมีความมั่นคง  พี่ก็ไปสัมภาษณ์งานมา 2-3 ที่  จนกระทั่งพี่ได้ไปร่วมงานกับที่แรกคือ  บริษัท Double A (1991) จำกัด (มหาชน)

แล้วพี่เป้เริ่มงานแรกด้วยตำแหน่งอะไรคะ   แล้วมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรไหมในช่วงแรกๆ ของการทำงาน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นนะครับ  พี่เริ่มงานที่แรกที่  บริษัท Double A (1991) จำกัด (มหาชน)  ทำงานในตำแหน่ง International Recruitment Executive  คือทำเกี่ยวกับการสรรหาและคัดเลือกพนักงาน  แต่พี่จะดูแลในส่วนของการสรรหาพนักงานต่างชาติ  เพื่อมาร่วมงานกับ Project ของบริษัทฯ ในต่างประเทศ  ก็ต้องติดต่อประสานงานกับต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกับ recruitment firm ในต่างประเทศ หรือกับตัวของผู้สมัครเอง  ซึ่งถือว่าดีมากๆ ทำให้พี่ได้ใช้ภาษาอังกฤษอยู่เสมอ  ไปฝึกทั้งทักษะ การฟัง พูด เขียน อุปสรรคก็มีบ้างในช่วงแรกๆ  เพราะพอพี่เข้าไปทำงานปุ๊ป Manager  ในทีมก็ลาออกทันที  ซึ่งพี่มารู้ทีหลังว่า  เขาเตรียมจะลาออกอยู่แล้ว  ตอนแรกก็ failed เหมือนกัน  กลัวจะไม่มีคนมาสอนงาน  แต่พอสักพักก็มีพี่  คนใหม่มาแทน ก็โล่งใจไปนิดนึง  ในเรื่องการทำงาน  ก็ถือว่า Challenge มากเหมือนกัน  เพราะ requirement ในการคัดเลือกพนักงานของที่นี่ค่อนข้างสูงมาก  ทำให้ยากมากๆ ในการจะคัดเลือกใครมาร่วมงานสักคน  ทำให้บางครั้งคนที่เราคิดว่าดีแล้ว  สุดท้ายก็ยังไม่ดีพอในมาตรฐานที่บริษัทต้องการ  ทำให้ต้องใช้ความพยายามค่อนข้างสูงในการคัดเลือกคนที่เหมาะสม  และดีที่สุดให้แก่องค์กร

แล้วตอนทำงานกับตอนเรียนแตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ  แล้วพี่เป้ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

จริงๆ มันก็ต่างนะครับ แต่พี่โชคดีที่ทำงานที่แรก พี่ว่าบรรยากาศมันยังไม่ต่างจากตอนเรียนมากนัก  พี่ต้องมาทำงานต่างจังหวัด  ต้องมาเช่าหอพักอยู่ใกล้ๆ ที่ทำงาน  เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็เหมือนกัน     ทำให้ตอนเย็นเราได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน  เหมือนกับตอนเราอยู่หอมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ไปกินข้าวเย็นด้วยกัน  ไปออกกำลังกายด้วยกัน  และโชคดีอีกอย่างคือ  คนที่ทำงานด้วย  ก็จะเป็นคนวัยเดียวกัน      วัยไล่เลี่ยกัน  ทำให้ไม่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวมากนัก  เรียกว่าคุยกันแป๊ปเดียวก็รู้แล้ว  ว่าพูดภาษาเดียวกัน  ซึ่งจริงๆ มันก็มีผลต่อการทำงานของเรานะ  ทำให้การติดต่อประสานงานต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว  อีกอย่างหนึ่งที่ต่างไปเลยคือ  เรื่องของความรับผิดชอบ  พี่รู้สึกว่าเมื่อเราต้องทำงานจริงๆ แล้ว ทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง ความรับผิดชอบของเราต้องมีเพิ่มมากขึ้น เราไม่ได้เป็นฝ่ายนั่งรอที่จะรับเงินอีกต่อไป  แต่เราต้องเป็นคนลงมือทำ  เพื่อให้เกิดผลงาน  แล้วผลงานนั้นแหละถึงจะแปรเปลี่ยนเป็นเงิน  หรือคำชมหรือตำแหน่ง อะไรก็ตามแต่ ในชีวิตรั้วมหาวิทยาลัย อะไรที่ผิด ที่พลาด เราสามารถแก้ไขได้ไม่ยากนัก    ลงวิชาผิด midterm คะแนนไม่ดี เราสามารถ drop หรือ withdraw แล้วไปลงเรียนเทอมหน้าได้ แต่ชีวิตการทำงานมันไม่ใช่แบบนั้น  คุณแบกรับความคาดหวังขององค์กร ของหน่วยงาน หรือถึงตัวคุณเอง ถ้าวันใด วันหนึ่งคุณทำพลาด มันหมายถึงว่า คุณพลาดแล้วจริงๆ เราไม่สามารถจะบอกว่า เราไม่ทำอันนี้แล้ว เราขอทำใหม่คราวหน้า มันไม่ได้ เราทำได้แค่เพียงยอมรับความผิดพลาดนั้น แล้วป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำอีกแค่นั้นเอง

หลายคนจะรู้จัก  HRว่าเป็นฝ่ายบุคคล คัดเลือกคนเข้าทำงาน แต่ถ้าจะให้พี่เป้อธิบายขอบข่ายหรือภาระงานของHR จริงๆ แล้วมีอะไรมากกว่านี้หรือไม่ อย่างไร แล้วต้องจบคณะหรือสาขาอะไรที่มาทำงานสายนี้ได้คะ

ภาระงานของ HR จริงๆ แล้วมันมีหลาย Function มาก ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่การคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน เรียกว่า Recruitment and Selection การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล Human Recourses Management  ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินว่า HRM  ส่วนนี้จะเป็นการบริหาร  จัดการดูแลพนักงาน  ในเรื่องที่เกี่ยวกับ  1. Engagement การทำให้พนักงานมีความรัก ผูกพันกับองค์กร   2. Compensation & Benefit ดูแลในเรื่องของสวัสดิการ ค่าตอบแทนต่างๆ   3. Performance Management ดูแลในเรื่องของการเติบโตของพนักงาน  การประเมินผลการปฏิบัติงาน  และอีกหัวข้อใหญ่หนึ่ง  ซึ่งพี่ทำงานด้านนี้อยู่ก็คือเรื่องของ Human Recourses Development  จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาพนักงาน  ผ่านเครื่องมือต่างๆ  เช่น  การจัดการอบรม  การ coaching จากหัวหน้า  การเรียนรู้จากการทำงาน learning form the job training  รวมถึงเรื่องการให้ทุนพนักงานเพื่อไปศึกษาต่อในสาขาวิชาต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการของบริษัท  สำหรับคนที่สนใจงานด้าน HR จริงๆ สามารถจบคณะ สาขาอะไรมาก็ได้ ไม่ได้ปิดกั้น แต่ว่าเท่าที่เราเห็นส่วนใหญ่ในเมืองไทย คนทำงานด้าน HR มักจะจบมาทางด้านรัฐศาสตร์ กฏหมาย การบริหารทรัพยากรมนุษย์ จิตวิทยา เป็นต้น หรือบางทีก็อาจจะข้ามสายงานมา เช่น บางคนจบวิศวะ บางคนจบบัญชีก็มี

สุดท้ายในฐานะที่พี่เป้ ทำงานฝ่ายHR ซึ่งต้องคอยคัดเลือกคนเข้าทำงาน มีเทคนิคหรือคำแนะนำ  ให้น้องๆ ที่กำลังจะจบการศึกษาและเข้าสู่โลกของการทำงานได้เตรียมตัวให้พร้อม  ในการสมัครงานหรือสัมภาษณ์งานให้ผ่านฉลุยบ้างคะ

ในฐานะที่พี่เคยเป็น Recruiter  พี่ขอบอกเลยว่า candidate ที่เป็นที่ต้องการตัวของเหล่าบริษัทชั้นนำ  จะต้องเป็นคนที่ …..

  1.  มีความมั่นใจ พูดจาฉะฉาน สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ต้องไม่พูดอ้อมแอ้มในคือ หรือพูดเสียงเบา หรือแสดงความไม่มั่นใจ      ออกมา  ถ้าไม่รู้ ก็ให้ตอบว่าไม่รู้  คือ  ต้องมีความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา  แต่ต้องอยู่ในกาละและเทศะ  เข้าใจบริบทและสถานการณ์  แล้วรู้ว่าเราควรจะ response อย่างไรต่อคำถาม  หรือข้อสงสัยของกรรมการ
  2. พูดในสิ่งที่รู้จริง เราจะไปสัมภาษณ์ตำแหน่งอะไร เราต้องมีความรู้สักนิดหนึ่ง  ว่าเราจะเข้าไปทำอะไร  พอมีความรู้ในงานมากน้อยแค่ไหน  ในกรณีเป็นเด็กจบใหม่  ไม่เคยทำงานมาก่อน  ก็ต้องเล่าว่าทำไมเราถึงสนใจงานนี้ เพราะอะไร  เพราะเราชอบในเนื้อหา ตำแหน่งดูน่าสนใจ เป็นบริษัทชั้นนำที่เราอยากทำงานด้วย  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราต้องชัดเจน มีความรู้ และต้องเป็นความรู้  เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ทำให้เมื่อเราพูดออกไปแล้ว เราดูน่าเชื่อถือ ดูเป็น Professional
  3. ข้อมูลเบื้องต้น ต้องจัดเตรียมให้พร้อม Transcript ใบประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร เกียรติยศรางวัลต่างๆ Resume  ในกรณีเด็กจบใหม่ ที่ไม่มีประวัติการทำงานมากนัก  ก็ให้ใส่พวก activity (กิจกรรม)  ที่เคยทำสมัยเรียนที่เด่นๆ สำคัญๆ ที่แสดงถึงความรับผิดชอบภาระหน้าที่ในงานด้านบริหาร บริการ หรือทักษะต่างๆ ที่เรามี  ที่จะทำให้กรรมการสัมภาษณ์มีความสนใจใน profile ของเรา  แต่ไม่จำเป็นต้องเยอะมาก  หากเป็นไปได้ ควรจะเขียนให้อยู่ในหน้าเดียว ของกระดาษ A4  เรื่องภาษาอังกฤษก็สำคัญ  ปัจจุบันบริษัทชั้นนำเกือบทุกแห่ง require ผลการทดสอบทางด้านภาษาอังกฤษ  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น TOEIC โดยขั้นต่ำส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 550 ก็ขอให้น้องๆ เตรียมตัวไปสอบแต่เนิ่นๆ เพราะจะมีผลต่อการได้งานทำของน้องๆ

ท้ายสุด.. พี่เป้อยากฝากอะไรถึงน้องๆ นักเรียนทุนที่กำลังจะจบไปเป็นบัณฑิตบ้างคะ

สำหรับน้องๆ ที่กำลังจะจบ พี่ก็ขอให้น้องๆ จงเลือกงานที่คิดว่าเหมาะกับตัวเรามากที่สุด  ไม่ว่าน้องๆ จะใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวตั้งก็ตาม บางคนอาจจะเลือกเพราะเงินดี บางคนเลือกเพราะเป็นงานที่ตรงกับที่เรียนมา  เลือกเพราะรัก  เลือกตามเพื่อน  เลือกเพราะใกล้บ้าน  อะไรก็ตามแต่  ขอให้เลือกอย่างมีสติ บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจ อย่าด่วนตัดสินใจ  เพราะงานมันจะอยู่กับเราไปทั้งชีวิต  และในขณะเดียวกันถ้าเราอยากได้งานดีๆ เงินดีๆ เพื่อนร่วมงานดี  เราก็ยิ่งต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม  คนที่พร้อมที่สุด  ถึงจะได้รีบสิ่งที่ดีที่สุด  เพราะฉะนั้นเอง น้องๆ ปี 1 ปี 2  ก็ต้องเริ่มเตรียมตัวเองแล้ว เพื่อเข้าสู่สังคมการทำงาน อย่างน้อยๆ ต้องเริ่มหาความชอบของตัวเอง หรือความถนัดได้แล้ว ว่าเราสามารถทำอะไรได้ดี  เราเหมาะกับอาชีพอะไร  เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมก่อนลงสู่สนาม  ทุกวันนี้บัณฑิตจบใหม่เยอะมาก แต่จำนวนงานมีจำกัด ทำอย่างไร ให้เราสามารถเป็นคนที่เลือกได้ ไม่ใช่เป็นคนที่ถูกเลือก อันนี้สำคัญมาก  อยากให้น้องๆ ทุกคนได้ลองคิด และไตร่ตรองดูให้มากครับ แล้วพี่เชื่อว่าน้องๆ นักเรียนทุนทุกๆ คนจะสามารถยืนหยัดและเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเองได้

ผู้เขียน : พี่เป้ – เกียรติศักดิ์ สมภักดี  บัณฑิตทุนรุ่นที่ 9/2553
การศึกษา : คณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา : จดหมายข่าวมูลนิธิดำรงชัยธรรม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558  หน้า 10-13