แมน  คล้ายสุวรรณ

นักเรียนทุนมูลนิธิดำรงชัยธรรม รุ่นที่ 13/2554

ชั้นปริญญาตรีปีที่ 3  คณะครุศาสตร์  สาขาวิชาภาษาไทย  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ผมยอมรับแล้ว ผมคือ “นักกิจกรรมตัวยง” ทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัย ป.๑ เปิดโอกาสให้กับตัวเองลงสนามการแข่งขันจนมาถึงปัจจุบัน รวม ๑๐ กว่าปี และปฏิเสธตัวเองไม่ได้เช่นกันเพราะที่ทำไปส่วนหนึ่งเราทำเพื่อ…เงิน ต้องเข้าใจตัวเองว่าฐานะครอบครัวเราไม่ได้ดีพร้อม แต่สิ่งที่ได้มาโดยไม่รู้ตัวเองคือ “พัฒนาการ” ที่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมไม่สามารถเนรมิตให้กับเราได้ ประสบการณ์ แรงผลักดัน ความอดทน มิตรภาพระหว่างสถาบัน ฯลฯ จนทุกอย่างเริ่มลงตัว ลงตัวในที่นี่หมายรวมถึง ชีวิต ที่เราพอยืนหยัดด้วยตนเองได้โดยได้รับโอกาสจากมูลนิธิดำรงชัยธรรม คอยเป็นหน่วยงานที่สนับสนุน ไม่ใช่เพียงทุนการศึกษาที่ผมได้รับทุกๆ เดือน ตลอดกว่า ๕ ปี แต่ในทุกเม็ดเงินกลับซ่อนปณิธานหนึ่งที่ทำให้ผมต้องเปิดหัวใจตัวเองให้กว้างมากขึ้น “ปณิธานของการให้”

ลองมองภายในตัวเอง เรากินอาหารอย่างมากที่สุดก็ไม่เคยหมดหม้อ ที่เหลือรังแต่จะเน่าเสียไปตามเวลา น่าจะดีถ้าข้าวหม้อหนึ่งเราแบ่งให้กับเพื่อนบ้าน นอกจากเราจะอิ่ม คนรอบข้างเราก็อิ่ม โอกาสก็เช่นกัน ผมเป็นผู้รับจนความรู้สึกว่าภายในอิ่มมากหากจะรับเพิ่มอีกไม่นาน…คงสำลัก ผมมองดูตัวเองว่าเราจะให้อะไรคนอื่นได้บ้าง เงิน ความรู้ที่สั่งสมมา คำพูด กำลังใจ แรงกาย เวลา ฯลฯ เราให้สิ่งเหล่านี้ไปเราเดือดร้อนไหม ถ้าเดือดร้อนอยู่เราต้องหยุด ขืนฝืนทำไปกำไรที่ได้รับคงไม่พ้นก้อนหินแห่งความทุกข์ ความวิตกกังวล ที่จะประดังปาเข้าสู้ห้วงความรู้สึก

สำหรับผมตัดสินใจแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปสอนพิเศษที่ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดสุวรรณาราม ผมให้เวลาเด็กๆ สอนคณิตศาสตร์ วาทศิลป์ นาฏศิลป์ ถ้ามองเชิงธุรกิจผมคงล้มละลายไปนานแล้ว แต่เมื่อใช้จิตวิญญาณของครูในการบริหาร ผมคงเป็นเศรษฐีของความสุข รอยยิ้มอันแสนบริสุทธิ์ที่เด็กๆ ส่งให้เรา อ้อมกอดที่รายล้อมมันแสนจะอบอุ่น ของรางวัลที่เราให้เขามันจึงมีค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ผมได้รับมา ช่วงปลายปีการศึกษานับเป็นความโชคดีของผมที่ผลงานกวีนิพนธ์ได้รับรางวัล ไม่วายที่ผมจะแบ่งเงินรางวัลก้อนใหญ่มาทำประโยชน์ทางการศึกษา เป็นทุนการศึกษานักเรียนที่เขียนเรียงความส่งประกวด ซื้อของขวัญให้นักเรียนที่เรียนดี สมทบทุนวงดนตรีของโรงเรียน จนถึงปัจจุบันกำลังที่ผมจะให้คนอื่นได้เป็นเรื่องของความสามารถด้านการเขียนร้อยแก้วร้อยกรอง ยามที่ไปบรรยายให้นักเรียนนักศึกษาฟัง หลายคนสนใจที่จะต่อยอดการเขียน ผมจึงสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊กเพื่อแบ่งปันเทคนิค แนวทางเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์งาน เปิดมุมมองทางความคิดว่าภาษาไทยมีประโยชน์มากกว่าฟังพูดอ่านเขียน

บางเวลาและบางความรู้สึก เคยรู้สึกเหนื่อยอ่อนกับคำพูดคน พยายามกล่าวหาว่าผมคือ “คนเห็นแก่ตัว” หากพิจารณา เราทุกคนต้องเห็นตัวเองก่อนเสมอ ก่อนที่จะมองเห็นคนอื่น (จริงไหม) เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้กำลังใจควรส่งให้ตัวเองเป็นอย่างยิ่งและเข้มแข็งไว้ แล้วกลับมาถามตัวเองกับคำพูดของเขา เมื่อความจริงแจ้งอยู่ในใจ ไม่ใช่เราคนเดียวที่จะเข้าใจเรา เพราะความจริงอันเป็นความงามจะเป็นเครื่องเปิดตาใจของคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่เราหวังดีต่อเขา

ถ้าจะตกผลึกชีวิตกับบทบาทของการเป็นผู้รับ เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งเราจะรู้สึกอิ่ม แต่แปลก เพราะบทบาทของการเป็นผู้ให้ไม่บรรจุคำว่าอิ่มในความรู้สึก จึงสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “การให้ไม่สิ้นสุด” เพราะการให้คือลมหายใจของโลก หายใจเข้าเป็นความสุข หายใจออกเป็นรอยยิ้ม เราขาดสิ่งนี้ไม่ได้ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า แล้วใครจะเป็นคนแรกที่จะส่งมอบโอกาสดีๆ เหมือนกับที่ตนเองได้รับ กลับมาถามใจตัวเองดู ว่าพร้อมจะเป็นคนนั้นแล้วหรือยัง?

…คนที่เป็นนักกิจกรรมตัวยงแห่งการให้

12308732_945265895540425_382852474335899327_n

แมน คล้ายสุวรรณ (แมน) 28 พ.ย.57 (14)

แมน คล้ายสุวรรณ (แมน) 20 ก.ย.57 (7)

แมน คล้ายสุวรรณ (แมน) 30 พ.ค.55 (2)

DSC_6175